ต้นกำเนิดละคร

สื่อความบันเทิงของคนในยุค 90s – 2000s ต้นๆ ก็คงจะหนีไม่พ้น “ละคร” หลังข่าวกันอย่างแน่นอนใช่มั้ยหล่ะครับ ซึ่งจริงๆ แล้วละครมีประวัติอันยาวนานมากกว่าช่วงนั้นอีก บทความนี้จะพาทุกๆ ท่านไปพบกับ “ทำความรู้จักกับ ต้นกำเนิดละคร” ที่พวกเราได้หามาให้กันครับ จะเป็นอย่างไรเราไปชมกันดีกว่า!!!

นิยามและต้นกำเนิดละคร

ละคร หมายถึงการแสดงรำที่เป็นเรื่องเป็นราว ดำเนินเรื่องไปโดยลำดับ มีตัวเอกของเรื่อง ฝ่ายชายเรียกว่าตัวพระ เพราะสมัยโบราณแสดงแต่เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เป็นเรื่องของกษัตริย์ มีชื่อว่าพระต่าง ๆ เช่น พระอนิรุทธิ์ พระไชยเชษฐ์ พระอภัยมณี ฝ่ายหญิงเรียกว่า ตัวนาง เพราะในเรื่องที่แสดงมักชื่อว่านางต่าง ๆ เช่น นางสีดา นางบุษบา นางทิพย์เกสร ยังไม่มีการแบ่งเป็นนางสาวและนางที่มีสามีแล้ว และตัวประกอบอื่น ๆ แล้วแต่ในเรื่องจะมีละครมีหลายแบบ แต่ละละครมีการแสดงและความมุ่งหมายแตกต่างกัน เช่น ละครโนรา ละครนอก ละครใน ละครถาม และละครดึกดำบรรพ์

3 ตัวอย่างละครในอดีตที่น่าสนใจ

►ละครนอก

ละครนอกเป็นละครของภาคกลาง นัยว่าวิวัฒนาการมาจากมโนราห์ เพราะมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกันคือ ดำเนินเรื่องรวดเร็ว และตลกขบขัน สมัยโบราณผู้แสดงผู้ชายล้วน เพิ่งมีผู้หญิงแสดงในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการห้ามมิให้บุคคลทั่วไปมีละครผู้หญิง ในตอนหลังผู้แสดงเป็นผู้หญิงโดยมาก ผู้ชายเกือบจะไม่มี ตัวละคร มีครบทุกตัวตามเนื้อเรื่อง ไม่จำกัดจำนวน ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ จะเป็นเครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ได้ทั้งนั้น โรงละคร มีฉากเป็นผ้าม่าน มีประตูเข้าออก 2 ประตู หลังฉากเป็นที่แต่งตัว และสำหรับให้ตัวละครพัก หน้าฉากเป็นที่แสดงตั้งเตียงตรงกลางหน้าฉาก การแต่งกาย เลียนแบบเครื่องต้นของกษัตริย์ ตัวพระสวมชฎา ตัวนางสวมเครื่องประดับศีรษะตามฐานะ เช่น มงกุฎกษัตรี รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว และกระบังหน้า เสื้อผ้าปักดิ้นเลื่อมแพรวพราว การแสดง มีคนบอกบท มีต้นเสียงและลูกคู่สำหรับร้อง บางตัวละครอาจร้องเอง การรำเป็นแบบแคล่วคล่องว่องไวพริ้งเพรา จังหวะของการร้องและการบรรเลงดนตรีค่อนข้างเร็ว เวลาเล่นตลกมักเล่นนาน ๆ ไม่คำนึงถึงการดำเนินเรื่อง และไม่ถือขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น ตัวกษัตริย์หรือมเหสีจะเล่นตลกกับเสนาก็ได้ เริ่มต้นแสดงก็จับเรื่องที่เดียว ไม่มีการไหว้ครู เรื่องที่ละครนอกแสดงได้สนุกสนานเป็นที่นิยมแพร่หลาย บทที่สามัญชนแต่งได้แก่ เรื่องแก้วหน้าม้า ลักษณวงศ์ และจันทโครพ บทที่เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ได้แก่ เรื่องสังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย ไชยเชษฐ์ คาวี มณีพิชัย ไกรทอง

►ละครใน

ละครในเป็นละครที่เกิดขึ้นในพระราชฐานจึงเป็นละครที่มีระเบียบแบบแผน สุภาพ ละครในมีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ รักษาศิลปะของการรำอันสวยงาม รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเคร่งครัด รักษาความสุภาพทั้งบทร้องและเจรจา เพราะฉะนั้น เพลงร้อง เพลงดนตรี จึงต้องดำเนินจังหวะค่อนข้างช้า เพื่อให้รำได้อ่อนช้อยสวยงาม ดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ จะเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องคู่หรือ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ก็ได้โรงมีลักษณะเดียวกับโรงละครนอก แต่มักเรียบร้อยสวยงามกว่าละครนอก เพราะใช้วัสดุที่มีค่ากว่า เนื่องจากมักจะเป็นละครของเจ้านาย หรือผู้ดีมีฐานะ เครื่องแต่งกาย แบบเดียวกับละครนอก แต่ถ้าแสดงเรื่องอิเหนา ตัวพระบางตัวจะสวมศีรษะด้วยปันจุเหร็จในบางตอน (ปันจุเหร็จในสมัยปัจจุบัน มักนำไปใช้ในการแสดงเรื่องอื่น ๆ ด้วย) การแสดง มีคนบอกบท ต้นเสียง ลูกคู่ การร่ายรำสวยงามตามแบบแผน เนื่องจากรักษาขนบประเพณีเคร่งครัด การเล่นตลกจึงเกือบจะไม่มีเลย บทที่แต่งใช้ถ้อยคำสุภาพ คำตลาดจะมีบ้างก็ในตอนที่กล่าวถึงพลเมือง ผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน ตัวประกอบอาจเป็นผู้ชายบ้าง เรื่องที่ใช้แสดงละครใน แต่โบราณมีเพียง 3 เรื่อง คือ เรื่องรามเกียรติ์ อิเหนา และอุณรุท โอกาสที่ใช้แสดง ในงานรื่นเริง

►ละครโนรา

ละครโนราเป็นละครที่เก่าแก่ที่สุด เป็นละครของชาวภาคใต้ ในสมัยโบราณผู้แสดงมีเพียง 3 คน เป็นผู้ชายล้วน แต่งตัวงามพิเศษอยู่แต่ตัวเอกซึ่งเป็นตัวพระ เรียกว่า ตัวยืนเครื่องเพียงคนเดียว ตัวนางก็ใช้ผ้าขาวม้าห่มโดยวิธีต่าง ๆ เช่น สไบเฉียง คาดอก และตะเบ็งมาน ตามฐานะ อีกคนหนึ่งเป็นตัวตลก ต้องแสดงเป็นตัวประกอบทุก ๆ อย่าง เป็นฤษี เป็นพราน เป็นม้า เป็นสัตว์ต่าง ๆ ตามเรื่อง ทุกคนไม่สวมเสื้อ แม้ตัวยืนเครื่องก็แต่งอาภรณ์กับตัวเปล่า เป็นละครที่มุ่งหมายตลกขบขัน และการดำเนินเรื่องรวดเร็ว ในสมัยปัจจุบันมีผู้หญิงแสดงร่วมด้วยและจำนวนผู้แสดงก็เพิ่มขึ้นไม่จำกัด การแต่งกาย มีการสวมเสื้อ ซึ่งประดับประดาด้วยลูกปัดเป็นอันมาก เครื่องดนตรีมี ปี่ใน (ภาคใต้เรียกปี่ต้น) กลองขนาดย่อมลูกเดียว โทน (ภาคใต้เรียกทับ) 2 ลูก ฆ้องคู่ (ภาคใต้เรียกโหม่ง) ฉิ่ง และกรับ (ภาคใต้เรียกแกระ) โรงสมัยโบราณปลูกอย่างง่าย ๆ มีเสา 4 ต้น เป็นมุม 4 มุม กับเสากลางสำหรับผูกซองใส่เครื่องอุปกรณ์การแสดง เช่น ธง อาวุธต่าง ๆ เรียกว่า ซองคลี สมัยปัจจุบันมีตัวละครมากขึ้นต้องใช้โรงละครอย่างโรงละครนอก การแสดงเริ่มต้นด้วยไหว้ครู แล้วรำซัด แล้วจึงจับเรื่อง ผู้แสดงร้องเองบ้าง มีต้นเสียงร้องให้บ้าง นักดนตรีก็ร้องเป็นลูกคู่ด้วย ละครแบบนี้ชาวภาคกลางเรียกว่า ละครชาตรี การที่เรียกว่าโนราก็เพราะตามประวัติว่าครั้งแรกแสดงแต่เรื่องนางมโนห์รา จึงเรียกว่ามโนห์รา แต่สำเนียงพูดของชาวภาคใต้นั้นคำที่เป็นลหุอยู่ข้างหน้าจะตัดทิ้งไม่ต้องพูด เช่น ไปเล (ไปทะเล) ไปหลาด (ไปตลาด) มโนห์รา จึงเรียกเป็นโนรา

และนี้ก็เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับ “ต้นกำเนิดละคร” ที่เราได้รวบรวมมาฝากทุกๆ ท่านกันครับ คิดว่าน่าจะเป็นความรู้ที่ดีกันนะครับ

Related Post